DMIND PRIVACY POLICY | นโยบายความเป็นส่วนตัว

          ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เพื่อการแพทย์ด้านจิตเวช (“ศูนย์ฯ”) มุ่งมั่นที่จะคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของท่านในฐานะที่ท่านเป็นผู้เข้ารับบริการระบบ DMIND ข้อมูลส่วนบุคคลของท่านจะได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ศูนย์ฯ ในฐานะผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลมีหน้าที่ตามกฎหมายในการแจ้งเอกสารฉบับนี้ให้ท่านทราบถึงเหตุผลและวิธีการที่ศูนย์ฯ เก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน รวมถึงแจ้งให้ท่านทราบสิทธิของท่านในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล

          นิยาม

ข้อมูลส่วนบุคคล หมายถึง ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ไม่รวมถึงข้อมูลของผู้ถึงแก่กรรมโดยเฉพาะ

ข้อมูลส่วนบุคคลที่อ่อนไหวหมายถึง ข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อในลัทธิ ศาสนาหรือปรัชญา พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลสุขภาพ ความพิการ ข้อมูลสหภาพแรงงาน ข้อมูลพันธุกรรม ข้อมูลชีวภาพ (เช่น ข้อมูลภาพจำลองใบหน้า ข้อมูลจำลองม่านตา ข้อมูลจำลองลายนิ้วมือ) หรือข้อมูลอื่นใดที่กระทบต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลในทำนองเดียวกันตามที่คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลประกาศกำหนด

ประมวลผล หมายถึง เก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผย

ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล หมายถึง บุคคลหรือนิติบุคคลที่มีอํานาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล

ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล หมายถึง บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตามคำสั่งหรือในนามของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งดำเนินการดังกล่าวไม่เป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล

          วัตถุประสงค์

          ศูนย์ฯ ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของท่านภายใต้ขอบเขตที่กำหนดไว้โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และประมวลผลข้อมูลเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการดังกล่าว โดยศูนย์ฯ ได้สรุปการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน พร้อมทั้งอธิบายฐานการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลที่ชอบด้วยกฎหมาย (Lawful Basis of Processing) ดังนี้

 

ลำดับที่

วัตถุประสงค์

ประเภทข้อมูล

ฐานการประมวลผลที่ชอบด้วยกฎหมาย

1.

เพื่อวัตถุประสงค์ในการประเมินภาวะซึมเศร้าโดยใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์

เพื่อประโยชน์ในการให้บริการแก่ท่าน ศูนย์จำเป็นต้องเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของท่านเพื่อใช้ในการวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงโรคซึมเศร้า

– ข้อมูลระบุตัวตน เช่น ข้อมูลใบหน้าและข้อมูลเสีียง เป็นต้น

– ฐานสัญญา

– ฐานความยินยอม (Consent)

2.

เพื่อวัตถุประสงค์ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงโรคซึมเศร้าในกรณีจำเป็นต้องเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานในเครือข่ายหรือสถานพยาบาล

เพื่อประโยชน์ในการให้บริการแก่ท่าน ศูนย์ฯ อาจเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของท่านให้หน่วยงานในเครือข่ายหรือสถานพยาบาลในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลระหว่างหน่วยงานในเครือข่ายหรือสถานพยาบาลเพื่อการให้บริการบางประเภท ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ได้จัดให้มีมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยมีข้อตกลงร่วมกันระหว่างสถานพยาบาลหรือหน่วยงานในเครือข่ายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของท่านในทางที่มิชอบด้วยกฎหมาย หรือโดยปราศจากอำนาจ

– ข้อมูลสำหรับการติดต่อ

– ข้อมูลด้านสุขภาพ

 

 

– ฐานสัญญา

– ฐานความยินยอม (Consent)

 

3.

เพื่อวัตถุประสงค์ในการศึกษาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาคุณภาพของการบริการโดยไม่บ่งชี้ตัวตนของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล

ศูนย์ฯ อาจนำข้อมูลส่วนบุคคลของท่านไปใช้เพื่อการศึกษาวิเคราะห์เพื่อการพัฒนาคุณภาพของการบริการ โดยจะทำเป็นรูปแบบรายงานผลโดยภาพรวมที่ไม่มีการบ่งชี้ตัวตนของเจ้าของข้อมูล และศูนย์ฯ จะรักษาความลับของข้อมูลดังกล่าวของท่านอย่างเคร่งครัด

– ข้อมูลสถิติ

 

– ฐานจดหมายเหตุ วิจัย หรือสถิติ

3.

เพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาดของศูนย์ฯ

ศูนย์ฯ อาจทำการเก็บรวบรวม ใช้ และประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวิเคราะห์สภาวะสุขภาพของท่าน และติดต่อเพื่อสื่อสาร ส่งข้อมูลข่าวสาร และนำเสนอโปรโมชั่น สินค้าและบริการ แก่ท่านตามที่ท่านได้ให้ความยินยอม

– ข้อมูลระบุตัวตน

– ข้อมูลสำหรับการติดต่อ

– ข้อมูลการสมัครข่าวสารและการเข้าร่วมกิจกรรมทางการตลาด

– ฐานความยินยอม (Consent)

 

 

          นอกจากวัตถุประสงค์ที่ระบุข้างต้นแล้ว ศูนย์ฯ จะไม่นำข้อมูลส่วนบุคคลของท่านไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ยกเว้นในกรณีที่พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 อนุญาต เช่น

  • เมื่อได้รับความยินยอมจากท่าน (ม.24) หรือเมื่อได้รับความยินยอมโดยชัดแจ้งจากท่านในกรณีการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่อ่อนไหว (ม.26)
  • เพื่อการศึกษาวิจัยหรือสถิติซึ่งได้จัดให้มีมาตรการปกป้องที่เหมาะสมเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสิทธิและเสรีภาพของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล (ม.24 (1))
  • เพื่อป้องกันระงับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพ (ม.24 (2))
  • เพื่อการปฏิบัติตามสัญญาระหว่างศูนย์ฯ กับท่าน (ม.24 (3))
  • เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินภารกิจเพื่อประโยชน์สาธารณะของศูนย์ฯ (ม.24 (4))
  • เพื่อประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมายของศูนย์ฯ (Legitimate Interest) หรือของบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น เว้นแต่ประโยชน์ดังกล่าวมีความสำคัญน้อยกว่าสิทธิขั้นพื้นฐานของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล (ม.24 (5))
  • เพื่อการปฏิบัติตามกฎหมายของศูนย์ฯ (ม.24 (6))
  • เพื่อป้องกันระงับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพในกรณีที่การใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่อ่อนไหวที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลไม่สามารถให้ความยินยอมได้ ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม (ม.26 (1))
  • เพื่อการก่อตั้งสิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย (ม.26 (4))
  • เพื่อประโยชน์ด้านสาธารณสุข หรือการคุ้มครองทางสังคมอื่นใดโดยศูนย์ฯ จัดให้มีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานและประโยชน์ของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล (ม.26 (5) (ข))
  • เพื่อความจำเป็นในการปฏิบัติตามกฎหมายด้านการคุ้มครองแรงงาน การให้สวัสดิการรักษาพยาบาล การประกันสังคม (ม.26 (5) (ค))

 

ข้อมูลส่วนบุคคลที่ศูนย์ฯ เก็บรวบรวมจากท่าน

ข้อมูลส่วนบุคคลของท่านที่ศูนย์ฯ เก็บรวบรวม สามารถจำแนกเป็นประเภทดังต่อไปนี้

ประเภทข้อมูลส่วนบุคคล

รายละเอียด

1. ข้อมูลระบุตัวตน (Personal data)

เช่น ข้อมูลใบหน้า น้ำเสียง และหมายเลขที่ระบุตัวตนอื่น ๆ

2. ข้อมูลสำหรับการติดต่อ (Contact data)

เช่น ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล

3. ข้อมูลการสมัครข่าวสารและการเข้าร่วมกิจกรรมทางการตลาด (Marketing Data)

เช่น ข้อมูลที่ใช้ในการลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสารและเข้าร่วมกิจกรรมทางการตลาด

4. ข้อมูลจากการเข้าใช้เว็บไซต์ (Technical data)

เช่น หมายเลข IP Address ของคอมพิวเตอร์ ชนิดของบราวเซอร์ ข้อมูล Cookies การตั้งค่าเรื่องเขตเวลา (time zone) ระบบปฏิบัติการ แพลตฟอร์มและเทคโนโลยีของอุปกรณ์ที่ใช้เข้าเว็บไซต์ 

5. ข้อมูลด้านสุขภาพ (Health data)

เช่น ข้อมูลประวัติอาการ ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ข้อมูล Feedback และ ผลการรักษา

          บางกรณี ศูนย์ฯ จำเป็นต้องขอความยินยอมเพื่อเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลบางอย่างของท่าน ซึ่งหากท่านไม่ให้ความยินยอม ท่านจะไม่สามารถรับบริการได้ หรืออาจได้รับความสะดวกจากการใช้บริการลดลง

แหล่งที่มาของข้อมูลส่วนบุคคล

ศูนย์ฯ เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของท่านจากแหล่งที่มา ดังต่อไปนี้

  1.     ข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้โดยตรงจากท่าน ได้แก่
    • กรณีที่ท่านเป็นผู้เข้ารับบริการ: ศูนย์ฯ ได้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่านจากการที่ท่านเข้ารับบริการ
  1.     ข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้รับโดยทางอ้อม ได้แก่
    • หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสุขภาพจิต เป็นต้น

 การเปิดเผยหรือแบ่งปันข้อมูลส่วนบุคคล

ศูนย์ฯ จะไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของท่านให้บุคคลภายนอก ยกเว้นเป็นกรณีที่กฎหมายอนุญาตเพื่อความจำเป็นในการปฏิบัติงาน ซึ่งทำให้ศูนย์ฯ อาจเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลได้ในกรณีต่อไปนี้

  1. เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลให้หน่วยงานราชการ หน่วยงานผู้มีอำนาจหรือบุคคลใดๆ เมื่อมีกฎหมายกำหนดหรือให้อำนาจ รวมถึงการปฏิบัติตามคำสั่งศาล
  2. การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลให้กับบุคคลหรือนิติบุคคลที่ศูนย์ฯ จำเป็นต้องปฏิบัติตามสัญญาหรือเพื่อผลประโยชน์ของท่านในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยศูนย์ฯ กำหนดให้บุคคลหรือนิติบุคคลเหล่านี้ต้องรักษาความลับและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของท่านตามมาตรฐานที่พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 กำหนด ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงบุคคลหรือนิติบุคคลในข้อนี้ได้แก่ 
    • ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานของศูนย์ฯ เช่น ผู้รับจ้าง หรือผู้ให้บริการประมวลผลข้อมูล 
  3. ศูนย์ฯ อาจเก็บข้อมูลส่วนบุคคลไว้ในระบบประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing) โดยใช้บริการจากบุคคลที่สามไม่ว่าตั้งอยู่ในประเทศไทยหรือต่างประเทศ โดยศูนย์ฯ ได้เข้าทำสัญญากับบุคคลดังกล่าวด้วยความระมัดระวังและพิจารณาถึงระบบรักษาความปลอดภัยในการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลที่ผู้ให้บริการระบบ Cloud Computing นั้นให้กับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

 

ระยะเวลาในการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคล

  1. ศูนย์ฯ จะเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของท่านไว้เป็นระยะเวลาตราบเท่าที่จำเป็นต่อการประมวลผลตามวัตถุประสงค์ที่เก็บรวบรวมตามกฎหมายเท่านั้น เว้นแต่มีความจำเป็นต้องเก็บข้อมูลส่วนบุคคลไว้ด้วยเหตุอื่นใด เช่น เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายหรือการตรวจสอบกรณีการเกิดข้อพิพาท ศูนย์ฯ อาจมีความจำเป็นต้องเก็บข้อมูลไว้เป็นระยะเวลาเกินกว่าที่ระบุ
  2. เมื่อพ้นระยะเวลาจัดเก็บ ศูนย์ฯ ไม่มีสิทธิหรือไม่สามารถอ้างฐานในการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของท่านแล้ว จะดำเนินการทำลายข้อมูลส่วนบุคคล หรือทำให้เป็นข้อมูลนิรนาม ซึ่งจะส่งผลให้ไม่สามารถระบุตัวบุคคลนั้นตามวิธีการที่ศูนย์ฯ กำหนด และจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาดังกล่าว

มาตรการในการเก็บรักษาและประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล

  1. ศูนย์ฯ จะจัดการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลด้วยมาตรการไม่น้อยกว่าระดับที่กฎหมายกำหนด และด้วยระบบที่เหมาะสม เพื่อป้องกันและรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลนั้น เช่น ใช้โปรโตคอลดความปลอดภัย (Secure Sockets Layer: SSL) ปกป้องด้วยไฟร์วอลล์ รหัสผ่าน และมาตรการทางเทคนิคอื่นๆ สำหรับการเข้ารหัสข้อมูลผ่านทางอินเตอร์เน็ต และจัดเก็บในสถานที่ที่มีระบบป้องกันการเข้าถึงที่จำกัดบุคคลที่สามารถเข้าถึงได้สำหรับข้อมูลส่วนบุคคล
  2. ศูนย์ฯ จำกัดการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่อาจจะเข้าถึงได้โดยพนักงาน ตัวแทน คู่ค้า หรือบุคคลภายนอก การเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลภายนอกจะสามารถทำได้ตามเท่าที่กำหนดไว้หรือตามคำสั่ง ซึ่งบุคคลภายนอกจะต้องมีหน้าที่ในการรักษาความลับและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
  3. ศูนย์ฯ จัดให้มีวิธีการทางเทคโนโลยีเพื่อป้องกันไม่ให้มีการเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้รับอนุญาต
  4. ในกรณีที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่อ่อนไหว ศูนย์ฯ จะจัดให้มีมาตรการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลเอกสารและข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในด้านการเข้าถึงและควบคุมการใช้งาน มีระบบการใช้งานและระบบสำรองพร้อมทั้งแผนสำหรับกรณีฉุกเฉิน และมีการตรวจสอบประเมินความเสี่ยงของระบบอย่างสม่ำเสมอ

การโอนข้อมูลส่วนบุคคลไปยังต่างประเทศ

  1. ในบางกรณี ศูนย์ฯ อาจมีความจำเป็นต้องโอนข้อมูลส่วนบุคคลของท่านไปยังต่างประเทศ ศูนย์ฯ อาจดำเนินการดังกล่าวได้หลังจากที่ได้แจ้งกับท่านถึงวัตถุประสงค์ของการดำเนินการดังกล่าว และได้รับการยินยอมจากท่านแล้ว โดยศูนย์ฯ จะแจ้งให้ท่านทราบถึงมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่อาจไม่เพียงพอของประเทศปลายทาง
  2. ศูนย์ฯ สามารถโอนข้อมูลส่วนบุคคลของท่านไปได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากท่านในกรณีที่การโอนข้อมูลส่วนบุคคลไปต่างประเทศนั้นเป็นไปเพื่อปฏิบัติตามสัญญาซึ่งท่านเป็นคู่สัญญา หรือเพื่อเป็นการป้องกัน หรือระงับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลหรือเพื่อใช้ในการดำเนินการตามคำขอของท่านก่อนเข้าทำสัญญานั้น หรือเป็นไปตามข้อกำหนดในพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล

ในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ท่านมีสิทธิร้องขอให้ศูนย์ฯ ดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลของท่านตามขอบเขตที่กฎหมายอนุญาตให้กระทำได้ ดังนี้

  1. สิทธิในการเพิกถอนความยินยอม (right to withdraw consent): ท่านมีสิทธิในการเพิกถอนความ ยินยอมในการประมวลผลข้อมูลสวนบุคคลที่ท่านได้ให้ความยินยอมกับศูนย์ฯ ได้ตลอดระยะเวลาที่ข้อมูลส่วนบุคคลของท่านอยู่กับศูนย์ฯ
  2. สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล (right of access): ท่านมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของ ท่านและขอให้ศูนย์ฯ ทำสำเนาข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าว รวมถึงขอให้ศูนย์ฯ เปิดเผยการได้มา ซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลที่ท่านไม่ได้ให้ความยินยอมต่อศูนย์ฯ ให้แก่ท่านได้
  3. สิทธิในการแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลให้ถูกต้อง (right to rectification): ท่านมีสิทธิในการขอให้ศูนย์ฯ แก้ไขข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือ เพิ่มเติมข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์
  4. สิทธิในการลบข้อมูลส่วนบุคคล (right to erasure): ท่านมีสิทธิในการขอให้ศูนย์ฯ ทำการลบข้อมูลของท่านด้วยเหตุบางประการได้
  5. สิทธิในการระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล (right to restriction of processing): ท่านมีสิทธิในการให้ศูนย์ฯ ระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่านด้วยเหตุบางประการได้
  6. สิทธิในการให้โอนย้ายข้อมูลส่วนบุคคล (right to data portability): ท่านมีสิทธิในการโอนย้าย ข้อมูลส่วนบุคคลของท่านที่ท่านให้ไว้กับศูนย์ฯ ไปยังผู้ควบคุมข้อมูลรายอื่น หรือตัวท่านเองด้วยเหตุบาง ประการได้
  7. สิทธิในการคัดค้านการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล (right to object): ท่านมีสิทธิในการคัดค้านการ ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของท่านด้วยเหตุบางประการได้

 

ท่านสามารถติดต่อมายัง ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์ เจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อดำเนินการยื่นคำร้องขอดำเนินการตามสิทธิข้างต้น ได้ที่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เพื่อการแพทย์ด้านจิตเวช ที่อยู่ 254 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย 10330 เบอร์โทรศัพท์ 02-218-6997 อีเมล natawut.n@aimet.tech

 การเปลี่ยนแปลงนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ศูนย์ฯ อาจทบทวนและเปลี่ยนแปลงนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในอนาคตเพื่อพัฒนาให้เกิดการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ดีขึ้น โดยศูนย์ฯ อาจแก้ไขเพิ่มเติมนโยบายความเป็นส่วนตัวโดยจะประกาศบนเว็บไซต์ https://aimet.tech/th/privacy-policy-dmind พร้อมระบุวันที่แก้ไขเพิ่มเติมครั้งล่าสุด ศูนย์ฯ แนะนำให้ท่านตรวจสอบนโยบายนี้เป็นประจำ โดยการที่ท่านใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการทางเว็บไซต์ของศูนย์ฯ ต่อไปหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายความเป็นส่วนตัวจะถือว่าท่านยอมรับนโยบายที่เปลี่ยนแปลงนั้นแล้ว

 ช่องทางการติดต่อ

ท่านสามารถติดต่อ ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์ เจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สอบถามหรือใช้สิทธิใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล ได้ที่อีเมล natawut.n@aimet.tech ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เพื่อการแพทย์ด้านจิตเวช ที่อยู่ 254 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย 10330 เบอร์โทรศัพท์ 02-218-6997

 

ประกาศเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566